เศรษฐกิจสีเขียว ( Green Economy )

คือ ระบบเศรษฐกิจที่นำไปสู่การยกระดับคุณภาพความเป็นอยู่ของมนุษย์ เพิ่มความเป็นธรรมทางสังคม และในขณะเดียวกันก็สามารถลดความเสี่ยงทางด้านสิ่งแวดล้อมและปัญหาความขาดแคลนของทรัพยากรลงได้

เศรษฐกิจสีเขียว ( Green Economy ) คือ ระบบเศรษฐกิจที่นำไปสู่การยกระดับคุณภาพความเป็นอยู่ของมนุษย์ เพิ่มความเป็นธรรมทางสังคม และในขณะเดียวกันก็สามารถลดความเสี่ยงทางด้านสิ่งแวดล้อมและปัญหาความขาดแคลนของทรัพยากรลงได้ ซึ่งแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจสีเขียวได้ถูกนำเสนอจากโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) เพื่อปรับแก้ไขระบบเศรษฐกิจ (เสรีนิยมใหม่) ที่เป็นอยู่ให้เป็นไปในทิศทางที่มุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนมากขึ้น

เศรษฐกิจสีเขียวในด้านบวก จะช่วยให้ท้องถิ่นไทยก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคง ทันโลก ทันสมัย หรือกระทั่งล้ำสมัยได้  โดยยังรักษาเอกลักษณ์ดีๆ ของวัฒนธรรมไทยไว้ได้ด้วย

ในบ้านเราทุกวันนี้ ทั้งผู้ผลิต ผู้บริโภค และภาครัฐ เริ่มให้ความสนใจกับเรื่องการใช้ชีวิตใกล้ชิดธรรมชาติอย่างมีคุณภาพอยู่บ้าง แม้จะยังค่อนข้างน้อย ดังจะเห็นได้ว่า เราใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายยากขึ้นทุกวัน ยกตัวอย่างเรื่องอาหารที่เราซื้อ  ซื่ออาหารได้ของแถมคือ ผงชูรส ยาปฏิชีวนะ  สารเคมีที่ไม่เหมาะจะบริโภคหรือนำเข้าสู่ร่างกาย  พลาสติกที่ใช้เป็นหีบห่อบรรจุภัณฑ์ และ “โรค” ต่างๆ อันเกิดจาการบริโภคสิ่งเหล่านี้ ทุกคนจึงต้องคิดอย่างมากว่าเราจะเอายังไงต่อไปกับการใช้ชีวิตแต่ละวัน

ประเทศพัฒนาแล้วที่เร่ิมหวนคือสู่ธรรมชาติอย่างจริงจังคือกลุ่มประเทศในยุโรปตอนเหนือ  ที่มีวัฒนธรรมของการอยู่เมืองเล็ก และวัฒนธรรมของชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เข็มแข็ง เป็นตัวของตัวเอง  นอกจากนี้มีคนอีกไม่น้อยที่นั่งเครื่องบิน (enegy waste) มาแสวงหาหรือชื่นชมวิถีชีวิตแบบ low carbon คือไม่สิ้นเปลืองพลังงานน้ำมันหรือไฟฟ้ามากนัก ดังเช่นชีวิตในชนบทของไทยและประเทศเพื่อนบ้านของเรา

 ข้อเสนอแนะบางประการ
๑. การพัฒนาท้องถิ่นควรอิงอยู่กับธรรมชาติและวัฒนธรรมเดิม ไม่ว่าจะเป็นอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัยหรือยารักษาโรค พัฒนาโดยเน้นให้สะอาดสะดวก ถูกสุขอนามัย ไม่สิ้นเปลืองทรัพยากร เพื่อให้ได้ชีวิตที่มีคุณภาพ ยกตัวอย่างที่พักอาศัยหรือที่พักแรมเพื่อนักท่องเที่ยว  บ้านลักษณะไทยที่โปร่งโล่งลมพัดผ่านใต้ถุนเย็นสบาย เสาสูงพ้นน้ำหน้าน้ำ ควรเป็นต้นแบบของการออกแบบอาคารพักอาศัยยุคใหม่ มากกว่าการลอกเลียนแบบบ้านจากเมืองใหญ่หรือจากบ้านฝรั่ง (ให้สังเกตด้วยว่าเมื่ออังกฤษมาสร้างบ้านที่สิงคโปร์ ก็ออกแบบบ้านลักษณะบังกาโล คือสร้างบ้านบนเสา มีใต้ถุน มีระเบียงกว้าง ไม่ได้ยกแบบบ้านทึบๆ ของประเทศเมืองหนาวมาใช้) จึงเป็นบ้านที่ใช้พลังงานน้อย

๒. ความรู้วิชาการจำเป็นเพื่อเป็นผู้ผลิตหรือผู้ให้บริการที่มีคุณภาพ มีคุณค่าและมูลค่าสูง  และเพื่อมิให้เกิดการกระทำที่มักง่ายหรือรู้เท่าไม่ถึงการ อันเป็นผลร้ายต่อตน ชุมชน และผู้บริโภค  เช่น การปลูกพืชผัก และการทำอาหารพื้นบ้าน ความอร่อยและเก็บรักษาได้นานขึ้น ควรเกิดจากฝีมือและความรู้ด้านการถนอมอาหารแบบถูกสุขลักษณะ มิใช้ด้วยการใช้สารเคมีปรุงแต่ง

๓.  ความเรียบง่ายมักจะเป็นมิตรกับธรรมชาติ เช่นดอกไม้บูชาพระของศรีลังกาที่เด็ดมาเป็นดอกแล้วจัดเรียงบนแท่นที่บูชา ไม่ต้องเปลืองถุงพลาสติก ยางรัด ฯลฯ

๔. การวางผังเมือง ผังชุมชน เป็นเรื่องสำคัญ เพื่อให้มีศูนย์กลางที่ประหยัดการเดินทางของคนในพื้นที่  เมื่อประชากรหนาแน่นขึ้น ผังเมืองที่กำหนดประโยชน์ใช้สอยอย่างดี ทำให้มีพื้นที่สาธารณะเหมาะสม  วางสาธารณูปโภคง่าย และจัดจราจรง่าย การไม่ใช้รถยนต์ โดยใช้รถสาธารณะ ใช้จักรยานแทนรถยนต์หรือมอร์เตอร์ไซค์ ก็มีส่วนในการประหยัดการใช้พลังงานน้ำมัน ที่ก่อให้เกิดมลภาวะในอากาศ ที่จะตกลงมาเป็นมลภาวะในดินและน้ำต่อไป

๕. ตลาดนัดเป็นประโยชน์ต่อทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค ถ้าเน้นของสด ของถูกสุขลักษณะ  ประหยัดบรรจุภัณฑ์ต่างๆ  ไม่ว่าจะเป็นถุงพลาสติกหรือหีบห่อ  สินค้าชั่งขายใส่ตะกร้า ประหยัดพลังงาน และไม่สร้างขยะที่สุดและตลาดนัดที่จำกัดผู้ค้าให้เป็นคนในพื้นที่เท่านั้น สร้างเอกลักษณ์ให้กับตลาดและเอื้อต่อผู้ผลิตในท้องถิ่น

๖. กติกาที่ต่างกันเป็นเงื่อนไขให้เกิดพฤติกรรมที่ต่างกัน เช่น หากว่ากำหนดว่า ผู้ใดสร้างขยะผู้นั้นต้องรับผิดชอบในการนำกลับไปกำจัดเอง ประกอบกับการตรวจตราไม่ให้ทิ้งขยะผิดที่ผิดทาง และการคิดค่ากำจัดขยะตามปริมาตร หรือปริมาณ แทนการเหมาจ่ายรายอาคาร  ขยะก็จะลดลงโดยปริยาย...การเก็บค่าทำความสะอาดตลาดแบบเหมาจ่ายรายร้าน เท่ากับอนุญาตให้สร้างขยะได้ตามสบาย หรือหากกำหนดว่า ขยะในสถานประกอบการเช่น โรงเรียน โรงแรม อาคารสำนักงาน ต้องแยกย่อยกี่แบบ ถ้าไม่แยกมีบทลงโทษเช่นไร  ก็จะช่วยให้จัดการกับขยะได้ง่ายขึ้น

๗. เมื่อมีผู้คนอยู่หนาแน่นขึ้น กติกาบางอย่างต้องเปลี่ยนให้ทัน ยิ่งเมื่อมีความเป็นเมืองมากขึ้น กติกาบางอย่างสำหรับการเป็น “พลเมือง” ยิ่งจำเป็นเพื่อความเรียบร้อยของชุมชน เช่น การรับรู้ว่าสาธารณะสมบัติ เป็นสิ่งที่ต้องดูแลเช่นเดียวกับสมบัติส่วนบุคคล และควรสงวนไว้เพื่อสาธารณะ  ยกตัวอย่างเช่น...การไม่โยนขยะลงน้ำหรือลงพื้นดิน ในพื้นที่ประชากรเบาบาง และของเสียเป็นวัสดุที่ย่อยสลายง่ายธรรมชาติคงช่วยจัดการได้ แต่ถ้าประชากรหนาแน่น และของเสียเป็นวัสดุที่อยู่ยืนยาวเป็นร้อยปี ขยะที่เทลงลงน้ำ ลงท่อ ไปอุดตันหรือขวางทางน้ำไหล เกิดปัญหาน้ำไม่ระบาย น้ำท่วมเมืองตามมา ... การไม่สนับสนุนหาบเร่แผงลอย นอกเวลาของตลาดนัด  เพราะมักจะรุกล้ำลำน้ำ รุกล้ำบาทวิถี เอาสิ่งที่เป็นสาธารณะควรใช้ร่วมกันเป็นที่ทำมาหากินส่วนบุคคล เป็นต้น

๘. การสร้างงานในชุมชน ทำได้ผ่านการวางแผนที่ดี เช่น แผนการใช้แรงงานและพัฒนาแรงงานให้มีคุณภาพการผลิตสินค้าและการนำเสนอบริการที่ใส่ใจคุณภาพทุกขั้นตอน

๙. การส่งเสริมการท่องเที่ยว เพื่อหารายได้เข้าท้องถิ่น ควรคำนึงถึงความยั่งยืนและยาวนานของการได้รายได้ของคนในท้องถิ่นเป็นหลัก การจัดเทศกาลที่ได้รายได้เพียงชั่วข้ามคืนก็คล้ายฝนตกห่าเดียว น้ำท่วมเมืองแล้วแล้งไปอีก ๑ ปี เทียบไม่ได้กับการค่อยๆ ได้รายได้ที่ดีไปเรื่อยๆ หลายๆ เดือนใน ๑ ปี  ซึ่งคล้ายฝนที่ค่อยๆตกได้ปริมาณพอเหมาะ เว้นระยะพอเหมาะ ต้นไม้ใบหญ้าได้รับน้ำชุ่มชื้นไปนาน
นักท่องเที่ยวจะมาเยือนที่ใด ที่นั้นต้องมีสิ่งดึงดูด ซึ่งมีทั้งสิ่งที่เป็นทรัพยากรธรรมชาติ หรือสิ่งที่ “คน” สร้างขึ้นมา จะเป็นวัฒนธรรมวิถีชีวิต หรือสิ่งก่อสร้าง (เช่น วัด อาคารสถานที่) หรือกิจกรรม (สนามแข่งรถ ที่เล่นปีนผา ฯลฯ) การพัฒนาจุดหมายเช่นนี้ อาจจะต้องร่วมกันทำเป็นกลุ่มตำบล หรือกลุ่มอำเภอ เพื่อสร้างแรงดูดเป็น destination ของการท่องเที่ยว

๑๐. สิ่งสำคัญที่พึงอวดมีหลากหลาย
ก. สินค้าเด่นหรือพ่อค้าเด่นทำอาชีพนี้มา ๒ – ๓ ชั่วคน หรือชั่วชีวิต สินค้าที่ผลิตเป็นความภูมิใจของท้องถิ่น(pride of the place)
ข. วัดกับการจัดแสดงพุทธศิลป์ ที่วัดครอบครองอยู่  ถ้าแสดงอย่างงดงาม จัดวางอย่างมืออาชีพ ให้ความรู้แก่ผู้เข้่าชม จะดึงดูดผู้เข้าชมได้มาก และสร้างมัคคุเทศก์ท้องถิ่นได้ด้วย
ค. ตลาดนัด
ง. อาคารเก่าของเมือง หรือย่านเก่าของเมือง ที่อนุรักษ์และเปลี่ยนแปลงประโยชน์ใช้สอยให้เข้ากับยุคสมัย

ที่เสนอมานี้เป็นเพียงหัวข้อ  ตัวอย่างประกอบมีมากมาย ทั้งในเมืองไทยเราเองที่ริเริ่มกันไปบ้างแล้ว และในญี่ปุ่นกับประเทศแถบยุโรปหลายประเทศที่พัฒนาต่อยอดไปจนเมืองเล็กในต่างจังหวัดมีชีวิตชีวา น่าเที่ยว น่าอยู่    จินตนาการไม่สิ้นสุด ขอเพียงเปิดใจ  เปิดหูเปิดตาให้กว้างท่องโลกอินเทอร์เน็ตดูไอเดีย   ยิ่งถ้ามี ๓ ประสาน คือ ๑. ​ชุมชนที่มุ่งมั่น ๒. ผู้บริหารเมืองที่ตั้งใจ และ ๓. นักวิชาการที่มีความรู้  ศักยภาพของท้องถิ่นที่จะก้าวไกล มีรายได้มั่นคง เป็นเรื่องที่อยู่ใกล้ๆ นี่เอง

นวพร เรืองสกุล  ๒๙ ตุลาคม ๒๕๖๐   


# พรรคกรีน....ไม่เอาทุนนิยมผูกขาด...แต่จะสนับสนุนเศรษฐกิจสีเขียวชุมชน
เพื่อให้คนไทย Go Green